วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สถานที่ท่องเที่ยวหน้าหนาวน่าชม

ดอกอ่างขาง จ.เชียงใหม่
ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่บนทิวเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคำว่า "อ่างขาง" ในภาษาเหนือ หมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยมตามลักษณะของดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นดอยที่มีรูปร่างของหุบเขายาวล้อมรอบประมาณ 5 กิโลเมตร กว้าง 3 กิโลเมตร ตรงกลางของอ่างขางเดิมเป็นภูเขาสูงเช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบ แต่เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็ค่อยๆ ละลายเป็นโพรงแล้วยุบตัวลงกลายเป็นแอ่ง มีพื้นที่ราบ ความกว้างไม่เกิน 200 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง” เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่นมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาวที่สร้างรายได้ดีกว่าเก่าก่อน
เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่หมู่บ้านผักไผ่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้
จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับ พระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัย และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขา ในการนำพืช เหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"
ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่บนทิวเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร และมียอดดอยสูงถึง 1,928 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 17.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด -3 องศาเซลเซียส
บนดอยอ่างขางมีสถานที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ตั้งอยู่ในเขตบ้านคุ้ม หมู่ที่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรประมาณ 1,800 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาที่สถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนอแล บ้านขอบด้ง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม และบ้านหลวง ซึ่งประกอบไปด้วยประชากร 4 เผ่าได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ
สถานที่ท่องเที่ยวในโครงการเกษตรหลวงดอยอ่างขาง ได้แก่
เรือนดอกไม้
มีการจัดแสดงพรรณไม้ไว้เป็นกลุ่มตามฤดูกาล เช่น สวนกล้วยไม้ซิมบิเดียม , กลุ่มกล้วยไม้รองเท้านารี , กลุ่มดอกโคมญี่ปุ่น , ไม้ดอกกระถางตามฤดูกาล , ไม้ดอกตามฤดูกาลกลางแจ้ง และพืชกินแมลง


แปลงสาธิตไม้ดอก
แปลงจะอยู่บริเวณใกล้ทางเข้าสถานี จะจัดแสดงไม้ดอกกลางแจ้งชนิดต่าง มีทั้งไม้ดอกที่ปลูกลงดิน และไม้แขวนหมุนเวียนตามฤดูกาล


โรงเรือนกุหลาบตัดดอก
ภายในโรงเรือนมีพันธุ์กุหลาบที่ปลูกทั้งหมด 10 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์จากประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งภายในโรงเรือนได้จำแนกกุหลาบเฉพาะกุหลาบตัดดอกตามลักษณะการใช้ประโยชน์
 

สวนบอนไซ

สวนบอนไซเป็นสวนที่จัดแสดงพันธุ์ไม้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีตั้งแต่ยุคต้นๆ และนำมารวบรวมไว้ให้ชม โดยจัดแสดงในรูปแบบของบอนไซ ภายในสวนบอนไซอ่างขางได้จัดแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ ส่วนจัดแสดงบอนไซไม้เมืองหนาว , โดมอนุรักษ์พันธุ์พืชภูเขาเขตร้อน , กลุ่มพืชทนแล้ง , พันธุ์ไม้ต่างถิ่น , สวนหินธรรมชาติ
โรงงานชา, จุดชิมชา ซื้อชา
เป็นจุดที่สถานีจะทำการแปรรูปทำชา ที่สถานีรับซื้อจากเกษตรกรชาวเขาที่ปลูกที่แปลง 2000 และ บริเวณหมู่บ้านนอแล โดยพันธุ์หย่วนจืออูหลงจะนำมาทำชาอู่หลง ส่วนพันธุ์เบอร์ 12 จะนิยมนำมาทำชาเขียว ซึ่งโรงงานยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาทดลองชิมชาฟรีที่โรงงานด้วย
แปลงไม้ผล
ไม้ผลเขตหนาวที่ปลูกที่สถานีฯอ่างขาง ได้แก่ สตรอเบอรี่ กีวี บ๊วย พี้ช พลัม บูลเบอรี่ สาลี่ พลับ ซึ่งในการปลูกไม้ผลในพื้นที่ต่างๆ ของโครงการหลวง สถานีฯอ่างขางนั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ไม้ผลเป็นพืชหนึ่งที่จะเป็นรายได้ให้ชาวเขาปลูก ทดแทนรายได้จากการปลูกฝิ่น หยุดยั้งการทำเกษตรแบบเร่ร่อนของชาวเขา
โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว
เป็นโรงเรือนที่รวบรวมพันธุ์ผักเขตหนาวชนิดต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง และเพื่อเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นส่วนจัดแสดงงานด้านผักเขตหนาวให้แก่ นักศึกษาฝึกงาน คณะเยี่ยมชมงาน นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปให้ได้ชม และด้านหลังโรงเรือนจะจัดแสดงวิธีการปลูกพืชระบบไฮโดรโพนิกส์ (ปลูกพืชในสารละลาย)
สวนสมเด็จ
ที่เรียกสวนสมเด็จนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนดอยอ่างขาง และหลังจากเสร็จภาระกิจการทรงงานแล้วจะทรงเสด็จประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในสวนแห่งนี้ ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อว่าสวนสมเด็จ โดยลักษณะของสวนจะเป็นสวนหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและภายในสวนจะรวบรวมพันธุ์ไม้ประเภทฝิ่นประดับ ดอกป๊อปปี้ (Poppy) และไม้ประเภทไม้เมืองหนาวชนิดต่างๆ ซึ่งทนแล้งได้ดีและปลูกโดยการหว่านเมล็ดตามฤดูกาล
สวนไผ่
สวนไผ่จะตั้งอยู่ระหว่างทางก่อนขับรถไปถึงสโมสร ในสวนจะรวบรวมไผ่หลายชนิดจัดแสดงไว้ให้ชม และยังมีศาลานั่งพักผ่อนด้านบนของสวนด้วย
สโมสรอ่างขาง
สร้างในปี พ.ศ. 2523 โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไต้หวัน เป็นสถานที่พักผ่อน สังสรรค์ของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครโครงการหลวง สโมสรอ่างขางจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรชาวเขา นอกจากนี้บริเวณรอบๆ สโมสรอ่างขางยังรายล้อมไปด้วยสวนดอกไม้นานาชนิดสร้างบรรยากาศสดชื่นให้แก่ นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ สโมสรอ่างขางเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 น. – 22.00 น. ทุกวัน หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อสโมสรอ่างขาง 053-450107-9 ต่อ 113 / 114
สวน ๘๐ (Garden Eighty)
เป็นสวนที่จัดตั้งในวาระที่องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงมีอายุครบ 80 ชันษา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4.95 ไร่ โดยการพัฒนางานจัดตกแต่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ลักษณะการจัดสวนเป็นแบบรวบรวมพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้ดอกไม้ประดับ ตามฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-เดือนมีนาคม) จะมีพรรณไม้เมืองหนาวนานาชนิด ได้แก่ กะหล่ำและคะน้าประดับ แพนซีไวโอล่า เดลฟีเนียม ลิ้นมังกร และยังได้รวบรวม ศึกษาปลูกเลี้ยง พันธุ์ไม้จากประเทศต่างๆ เช่น แม็กโนเลีย คาเมลเลีย ไม้ตระกูลซากุระ และเมเปิ้ล ซึ่งจะจัดกลุ่มประเภทไม้ดอกออกเป็นหมวดหมู่ ดังนี้
ไม้ดอกฤดูหนาว (ตุลาคม - มีนาคม) ได้แก่ ดอกลิ้นมังกร กะหล่ำประดับ เจอราเนียม บีโกเนีย เดลฟีเนียม อาเจอราตุ้ม ผีเสื้อ กาซาเนีย พริมูล่า แพนซี ไวโอล่า เพนสทิม่อน เดซี่ ไอซ์แพล้นท์ เป็นต้น
ไม้ดอกฤดูร้อนและฤดูฝน (เมษายน - กันยายน) ได้แก่ ดอกซัลเวีย สร้อยไก่ ดาวเรือง ดอกไม้จีน อากาแพนธัส ดาเลีย รู๊ดบีเกีย เป็นต้น
ไม้ดอกเจริญข้ามปี (perennials) ได้แก่ ปักษาสวรรค์ แคล่าลิลี่ ลาเวนเดอร์ ตาเป็ดตาไก่ เป็นต้น
ไม้พุ่ม (shrubs) ได้แก่ ไฮเดรนเยีย คาเมลเลีย อาบูติล่อน หอมหมื่นลี้ ซากุระ นางพญาเสือโคร่ง แม็กโนเลีย อาซาเลีย โรโดเดนดรอน แปรงล้างขวด เป็นต้น



สวนคำดอย Rhododendron & Azalea Garden
สวนนี้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2547 มีพื้นที่ประมาณ 1.5 ไร่ วัตถุประสงค์ เป็นสวนรวบรวมพันธุ์ไม้ตระกูลโรโดเดนดรอน สายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งในและจากต่างประเทศ และจัดเปลี่ยนไม้ดอกไม้ประดับ ประกอบเฉพาะบางส่วน ตามฤดูกาล
สวนหอม Scented Garden
จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2545 มีพื้นที่ประมาณ 2 งาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดรวบรวมปลูกพรรณไม้ที่มีกลิ่น จากส่วนต่างๆ ของต้นเช่น ใบหรือดอกมีกลิ่นหอม และบางชนิดสามารถรับประทานได้ พรรณไม้หอมมีทั้งไม้ยืนต้น เช่น หอมหมื่นลี้ มะโฮเนีย มิชิเลีย เป็นต้น ไม้เลื้อย เช่น มะลิเลื้อย วิสทีเรีย และ พรรณไม้ดอกข้ามปีและไม้ล้มลุก เช่นผีเสื้อ ลาเวนเดอร์ เจอราเนียมเพลาโกเนียม ไวโอล่า นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรอีกด้วย
กุหลาบอังกฤษ
เป็นกุหลาบที่นำพันธุ์มาจากประเทศอังกฤษทั้งหมดเป็นพันธุ์ที่ปลูกประดับสวน 240 สายพันธุ์ 258 ต้น ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มคือ กลุ่มกุหลาบพัฒนาใหม่ (Modern Garden Rose) และกลุ่มกุหลาบดั้งเดิม (Old Garden Roses) ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เช่น กุหลาบพุ่ม กุหลาบคลุมดิน กุหลาบเลื้อย กุหลาบหนู และในแต่ละกลุ่ม แต่ละสายพันธุ์นั้นมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องการเจริญเติบโต และการพัฒนาดอก บางสายพันธุ์สามารถให้ดอกได้ทั้งปี บางสายพันธุ์ให้ดอกปีละครั้งผลผลิตออกดอกมากสุด ช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี
พระธาตุดอยอ่างขาง
อยู่บนเส้นทางที่จะเดินทางไป บ้านขอบด้ง บ้านนอแล นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยอ่างขางได้ในโอกาสที่เดินทางมาเที่ยวที่สถานีฯ อ่างขางเพื่อความเป็นสิริมงคล
บ้านขอบด้ง
เป็นหมู่บ้านที่มีชาวเขาเผ่ามูเซอดำอาศัยอยู่ ประกอบอาชีพหลักด้านการเกษตร และมีงานหัตถกรรมชาว (กำไลหญ้าอิบูแค) เขาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว
ที่บริเวณใกล้กันยังมีไร่สตอเบอรี่ที่ปลูกตามไหล่เขาเป็นขั้นบันไดลดหลั่นกันลงมา ยามเช้ามีสายหมอกสวยงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น