เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าเทือกเขาพังเหย
และป่านายางกลัก จังหวัดชัยภูมิ ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า
เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า และภูเขาที่สวยงามยิ่ง
เช่น น้ำตกไทรทอง ทุ่งบัวสวรรค์ ฯลฯ สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเทือกเขาพังเหย
และป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลท่าใหญ่ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง
ตำบลบ้านเจียง ตำบลเจาทอง ตำบลวังทอง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง
ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว และตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต
จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่
126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 77 ของประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติไทรทอง
อยู่ในท้องที่อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง
จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 199,375
ไร่ หรือ 319 ตารางกิโลเมตร
มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงามและอุทยานแห่งชาติภูแลนคา
เป็นผืนป่าบนเทือกเขาพังเหย
ในช่วงต้นฤดูฝนนอกจากผืนป่าจะเขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แล้ว
ที่นี่ยังงดงามโดดเด่นด้วยดอกกระเจียวที่ผลิบานอยู่เต็มท้องทุ่ง เรียกชื่อว่า
ทุ่งบัวสวรรค์ มีน้ำตกไทรทองที่สวยงาม
และมีหน้าผาให้นักท่องเที่ยวได้ท้าพิสูจน์ของความหวาดเสียว
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติไทรทองอยู่ในเขตเทือกเขาพระยาฝ่อ
และเทือกเขาพังเหย มีลักษณะภูมิประเทศ
ประกอบด้วยภูเขาสูงต่ำหลายลูกเรียงรายสลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถึงสูงสุดที่ยอดเขาพังเหย 1,008 เมตร เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำห้วยโป่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแย้
ลำห้วยยาง ล้ำน้ำเจา ลำน้ำเจียง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำชี
ลักษณะภูมิอากาศ
พื้นที่ป่าแห่งนี้จัดอยู่ในภูมิอากาศประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู
อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
ลักษณะของฝนที่ตกส่วนมากจะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง
อิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นจะได้รับไม่มากนัก ฝนตกมากในช่วงเดือนกันยายน ฤดูหนาว
ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
ถึงเดือนพฤษภาคม
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติไทรทองสามารถแบ่งออกได้เป็น
3 ประเภท ได้แก่
ป่าดิบแล้ง
พบทางตอนเหนือของเทือกเขาพระยาฝ่อ และตอนกลางของเทือกเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ ตะแบก กระบาก ตะเคียนหิน มะค่าโมง มะม่วงป่า ประดู นนทรีป่า สาธร และเขล็ง
ฯลฯ
ป่าเต็งรัง พบมากบริเวณพื้นที่สันเขาและพื้นที่ลอนลาดตอนล่างในเทือกเขาพังเหย
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ พะยอม เต็ง รัง พลวง ตีนนก กว้าว แดง รัก กระบก ส้าน
ไผ่ และหญ้าชนิดต่างๆ
ป่าเบญจพรรณ พบไม่มากนัก
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่างๆ
สัตว์ป่า ที่พบเห็นได้ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง
ได้แก่ หมูป่า อ้น อีเห็น ชะมด เก้ง กระจง กระรอก กระแต กระต่ายป่า นกตะขาบทุ่ง
นกกระปูด อีกา เหยี่ยว ไก่ป่า ตะกวด แย้ ตุ๊กแก กิ้งก่า งู กบ ปาด เขียด อึ่งอ่าง
ฯลฯ และพบปลาบางชนิดตามแหล่งน้ำต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
ทุ่งบัวสวรรค์
ทุ่งบัวสวรรค์ หรือ ทุ่งดอกกระเจียว
มีทั้งดอกสีชมพูและดอกสีขาว อยู่บริเวณสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตก มีทั้งหมด 5
ทุ่งใหญ่ๆ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 10 กิโลเมตร จะออกดอกสวยงามเต็มทุ่งประมาณปลายเดือนมิถุนายน -
กลางเดือนสิงหาคมของทุกปี
ทางอุทยานแห่งชาติไทรทองจัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือ
จัดเจ้าหน้าที่นำทางพาผู้สนใจเดินขึ้นไปตั้งแค้มป์พักแรมบนทุ่งบัวสวรรค์
ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคมบริเวณทุ่งบัวสวรรค์ทั้ง 5 ทุ่ง จะมีพรรณไม้ดอกแข่งขันกันออกดอก มีทั้งดุสิตา สร้อยสุวรรณา จุกนารี
กระดุมเงิน กระดุมทอง เอื้องนวลจันทร์ หงอนไก่แจ้ สามพันตึง ดาวเรืองภู เป็นต้น
จุดชมวิวเขาพังเหย
อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225
(ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณกิโลเมตรที่ 70
เป็นที่แวะพักรถยนต์และชมทิวทัศน์ของผืนป่าและแนวสันเขาสลับซับซ้อนของเขาพังเหย
เมื่อมองลงไปเบื้องล่างจะเห็นที่ราบภาคกลางในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นบริเวณกว้าง
โดยเฉพาะในช่วงยามเย็นที่อาทิตย์จะอัสดง
จุดชมวิวหลังสัน
เป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย
สูงจากระดับน้ำทะเล 1,008 เมตร อากาศหนาวเย็นตลอดปี
มีสถานที่กางเต็นท์พักแรมและบ้านพักรับรอง เพื่อสัมผัสความหนาวเย็นของอากาศ
น้ำตกไทรทอง
น้ำตกชวนชม
อยู่เหนือน้ำตกไทรทองขึ้นไปประมาณ 2
กิโลเมตร ตามทางเดินศึกษาธรรมชาติ สูงประมาณ 20 เมตร กว้าง 50 เมตร อยู่ภายใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่น
น้ำตกคลองไทร
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านอำเภอภักดีชุมพล
ตัวน้ำตกเป็นชั้นเล็กๆ ภายใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่น จะมีน้ำมากในช่วงฤดูฝน
ผาพ่อเมือง
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 10
กิโลเมตร เป็นแนวหน้าผาหินทรายยาว 3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเส้นทางไปทุ่งบัวสวรรค์
บนสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตกสูงจากระดับน้ำทะเล 800-908 เมตร
มองลงไปด้านล่างจะเห็นตัว อำเภอภักดีชุมพล
และเส้นทางเดินเท้าลัดเลาะไปตามแนวหน้าผา มีจุดชมวิวเด่นๆ อยู่ 4 จุด คือ
ผาอาทิตย์อัสดง ผาสวนสวรรค์ ผาเพลินใจ ผาหำหด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหน้าผาที่หวาดเสียวสุดๆ
เมื่อขึ้นไปนั่งบนชะง่อนหินนั้น
ผาหำหด
เป็นสันเขาตรงจุดสูงของเทือกเขาพังเหย
สูงจากระดับน้ำทะเล 864 เมตร
มองเห็นทิวทัศน์สวยงามรอบด้าน อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีสถานที่กางเต็นท์พักแรม
เพื่อสัมผัสความหนาวเย็นของอากาศ และกิจกรรมปีนหน้าผา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น